ตีแผ่ “อาการตอนนอน” ของลูกน้อย เรื่องน่ากังวลหรือหายห่วง ตอนที่ 2

ตีแผ่ “อาการตอนนอน” ของลูกน้อย เรื่องน่ากังวลหรือหายห่วง ตอนที่ 2

- เหงื่อแตก

ในช่วงที่หลับลึกที่สุด ทารกบางคนจะเหงื่อแตกจนเปียกโชกไปหมด

และเด็กทารกก็มีแนวโน้มที่จะเหงื่อแตกในช่วงกลางคืนมากกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโต

เพราะมีช่วงหลับลึกยาวนานกว่ามาก

อาการเหงื่อแตกตอนนอนหลับถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าลูกเหงื่อแตกมากเกินควร

ก็แปลว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างผิดปกติ เช่น อาจบ่งชี้ว่าลูกเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด

ติดเชื้อต่างๆ และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (เหงื่อแตกเพราะหายใจลำบาก)

ถ้าร้อนเกินไป ลูกก็จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจกะทันหันในทารก (SIDS)

ห้องที่ลูกนอนจึงควรจะอบอุ่น ไม่ร้อน และจำนวนชั้นของเสื้อผ้าที่ให้ลูกใส่นอนก็ควรจะ

เท่ากับจำนวนชั้นที่คุณใส่แล้วรู้สึกกำลังดี นอนได้สบายๆ โดยไม่ต้องห่มผ้า

เพราะถ้าคุณรู้สึกว่าร้อนเกินไป ลูกก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน พยายามอย่าให้ลูก

ใส่เสื้อผ้าหลายๆ ชั้น และเก็บพวกผ้าห่ม ผ้านวมให้พ้นจากเตียงลูกด้วย

หากเจ้าตัวเล็กยังนอนเหงื่อแตกทั้งที่ห้องก็ไม่ได้ร้อน และไม่ได้ใส่เสื้อผ้าหนาๆ

หรือหลายชั้น ให้ปรึกษาคุณหมอ

- โยกตัว

มีเด็กทารกจำนวนไม่น้อยที่ชอบการเคลื่อนไหวไปๆ มาๆ แบบเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

อย่างการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลของเก้าอี้โยก และบางคนก็กล่อมตัวเองด้วยการโยกตัว

ในท่าคลานหรือท่านั่ง อาจมีพฤติกรรมเอาหัวโขกหรือโคลงหัวร่วมด้วย

โดยจะเริ่มตอนอายุราว 6 เดือน

          - วิธีรับมือที่ดีที่สุดคือทำเป็นไม่สนใจ เพราะการโยกตัวในทารกไม่ได้บ่งชี้ถึง

ปัญหาด้านพฤติกรรม หรืออารมณ์ และถ้าลูกรู้สึกได้ว่าคุณพยายามจะยับยั้ง

เขาก็อาจจะมองว่าเป็นความท้าทายและตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป

          - ถ้าหากการโยกตัวในยามวิกาลของลูกดูรุนแรงผิดสังเกต ก็ควรจะเลื่อน

เตียงคอกออกห่างจากผนังห้อง และหมั่นขันสกรูกับสลักเตียง

(ซึ่งอาจจะหลวมเพราะการโยกตัว)ให้แน่นหนา

 

- เอาหัวโขก

การเอาหัวโขกเป็นพฤติกรรมการกล่อมตัวเองของทารกซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

เช่นเดียวกับการโยกตัว และลูกก็ยังอาจจะเอาหัวโขกเพื่อหันเหความสนใจ

จากความเจ็บปวด (เช่น ตอนฟันขึ้นหรือเป็นโรคหูอักเสบจากการติดเชื้อ) ด้วย

มีเด็กทารกและเด็กวัยเตาะแตะถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่มีพฤติกรรมนี้

และเด็กผู้ชายก็มีแนวโน้มที่จะทำแบบนี้มากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 3 เท่า

โดยมักจะเริ่มในช่วงครึ่งหลังของขวบปีแรกและเห็นชัดในช่วงอายุ 1 ขวบ 6 เดือน

ถึง 2 ขวบ และอาจเป็นอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี แต่ก็มักจะหายไปเองตอน 3 ขวบ

ช่วงที่ลูกมีพฤติกรรมนี้ คุณควรจะหมั่นขันสกรูและสลักเตียงให้แน่นหนา

แต่ไม่ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มเป็นเครื่องกันกระแทก เพราะถึงส่วนใหญ่ เราจะพบภาวะ

หยุดหายใจกะทันหันในทารกในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน แต่ก็อย่าเสี่ยงดีกว่า

การเอาหัวโขกในทารกไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์

แต่คุณก็ควรจะแจ้งให้คุณหมอทราบ เพราะถึงจะพบได้น้อยมาก แต่ในบางกรณี

(โดยเฉพาะในเด็กพัฒนาการช้า) การเอาหัวโขกก็อาจจะเป็นอาการที่บ่งบอกว่า

มีอะไรบางอย่างผิดปกติ

 

- กัดฟัน

มีทารกกว่าครึ่งที่นอนกัดฟัน และพฤติกรรมนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นในช่วงอายุใดก็ได้

แต่มักพบในเด็กทารกที่ฟันซี่แรกกำลังขึ้น (ตอนอายุราว 6 เดือน) และในเด็กที่

ฟันแท้กำลังขึ้น (ตอนอายุราว 5 ขวบ)

ทารกอาจนอนกัดฟันเพราะฟันขึ้น ปวดหู และมีปัญหาในการหายใจ

(เพราะคัดจมูกหรือเป็นโรคภูมิแพ้) และการกัดฟันก็มักจะไม่ได้ทำให้ฟันลูกเสีย

แต่คุณก็น่าจะแจ้งให้คุณหมอและหมอฟันทราบ (ลูกควรพบหมอฟันครั้งแรกตอน

อายุครบ 1 ขวบ) เพราะพฤติกรรมนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อาจทำลายเคลือบฟัน

และในเด็กบางคนที่กัดฟันรุนแรง ก็อาจทำให้ฟันกร่อนได้